วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สัปดาห์ที่ 3 ข่าวเก่า ๆ เอามาเล่าใหม่

5 สุดยอดข่าววิทยาศาสตร์ปี 2550
เมื่อวันต้อนรับปีใหม่ 2551 มาถึง ก็เป็นเวลาของการคัดเลือกและจัดอันดับ 10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ ในรอบปี 2550 ที่เพิ่งจะผ่านไป โดยเป็นการคัดเลือกและจัดอันดับข่าววิทยาศาสตร์ในรอบปีของผู้เขียนที่ทำต่อเนื่องกันมาหลายปี สำหรับปี 2550 เป็นอีกปีหนึ่งที่มีข่าวความเคลื่อนไหวเชิงวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายข่าว ทั้งเรื่องราวบนโลก ในอวกาศ และเกี่ยวกับตัวตนของมนุษย์เองโดยตรง ส่วนในประเทศไทยก็มีความเคลื่อนไหวทางด้านวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจค่อนข้างมากทีเดียว แต่เมื่อต้องคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ทั้งระดับโลกและในประเทศไทย ผู้เขียนก็คัดเลือกข่าวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งก็เป็น 1 ใน 10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ของปีที่แล้วด้วย และในรอบปี 2550 ผู้เขียนยกให้เป็นข่าวอันดับ 1 และสำหรับข่าววิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ผู้เขียนคัดเลือกผลงานยอดเยี่ยมของเยาวชนไทย ในการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกครั้งแรกที่จัดในประเทศไทย มาเป็น 1 ใน 10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์แห่งปี 2550 ด้วย




1.โลกร้อนกับรางวัลโนเบลภาวะโลกร้อน ติดอันดับ 10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ต่อเนื่องกันมาหลายปี และเมื่อสิ้นสุดปี 2550 ก็มาติดอันดับอีก คือ รายงานภาวะโลกร้อนปารีส (Paris Global Warming Report) เมื่อต้นเดือน ก.พ. โดย “คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ ไอพีซีซี (IPCC) มีบทสรุปชัดเจนประกาศเป็นครั้งแรกว่า ภาวะโลกร้อน เกิดจากฝีมือมนุษย์ 90% ก่อให้เกิดกระแสความตระหนัก และการตื่นตัวถึงภัยจากภาวะโลกร้อนที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วยปลายปี 2550 ไอพีซีซี ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ มีสำนักงานดำเนินงานอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้นำคนสำคัญระดับโลกที่ทำงานอย่างต่อเนื่องมาหลายปี เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยจากภาวะโลกร้อน เจ้าของรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ประจำปี 2550 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน สำหรับผลงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดย ไอพีซีซี และ อัล กอร์ แบ่งเงินรางวัลโนเบลฝ่ายละครึ่ง




2.ที่สุดแห่งซูเปอร์โนวาเดือน พ.ค. 2550 คณะนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์กลีย์ และมหาวิทยาลัยเทกซัส ในสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์รายงานในวารสาร The Astronomical Journal การศึกษา ซูเปอร์โนวามีขนาดใหญ่และสว่างมากที่สุด ที่เคยมีบันทึกกันมาตั้งแต่อดีตกาลถึงปัจจุบัน ซูเปอร์โนวาชื่อ SN 2006 gy มีขนาดประมาณ 100-200 เท่าของขนาดดวงอาทิตย์ อยู่ในกาแล็กซีห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 240 ล้านปีแสง เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปี 2549 และปรากฏตัวสว่างขึ้นอย่างรวดเร็วดังเช่นซูเปอร์โนวาทั่วไป แต่ซูเปอร์โนวาดวงนี้สว่างขึ้นมากและปรากฏให้เห็นได้ยาวนานกว่าซูเปอร์โนวาทั้งหมดที่มนุษย์เคยเห็นมาก่อน ทำให้มันเป็นซูเปอร์โนวาขนาดใหญ่มาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับดวงดาวในกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่มีมากกว่า 4 แสนล้านดวงแล้ว ก็มีดวงดาวที่มีขนาดและมวลมากเท่า SN 2006 gy เพียง 10 กว่าดวงเท่านั้นนักดาราศาสตร์อธิบายว่า ความสว่างที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลของ ซูเปอร์โนวา SN 2006 gy เกิดจากการยุบถล่มของดวงดาวไปเป็นหลุมดำ และทำให้นักดาราศาสตร์ต้องจับตาดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ชื่อ เอตา คาริเน (Eta Carinae) เป็นดาวยักษ์สีน้ำเงิน มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรากว่า 100 เท่า อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 8 พันปีแสง และอาจจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา ปรากฏให้เห็นอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสายตามนุษย์โลกในอนาคตไม่ไกลนัก




3.ยีน 13: ยีนนำโชคคนตาบอดเดือน มิ.ย. 2550 คณะนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ตีพิมพ์รายงานการค้นพบยีนตัวใหม่ เรียกว่า แอลซีเอ 5 (LCA 5) มีศักยภาพสามารถจะช่วยแก้ปัญหาคนตาบอดตั้งแต่เกิด หรือหลังการเกิดไม่นาน จากโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม เรียกว่า แอลซีเอ (LCA หรือ Leber’s Congental Armaurosis) มีสาเหตุจากความผิดปกติของยีนผลิตสารเรียกว่า เลเบอร์ซิลิน (Lebercilin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์รับแสงของจอรับภาพตาหรือเรตินายีนแอลซีเอ 5 เป็นยีนเกี่ยวกับโรคแอลซีเอ ทำให้คนตาบอดตัวที่ 13 ซึ่งโดยทั่วไปเลข 13 ถูกมองเป็นเลขอับโชค เป็นเลขที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่สำหรับยีนแอลซีเอ 5 กลายเป็นยีนแอลซีเอตัวที่ 13 ที่กำลังเป็นยีนนำโชค เปลี่ยนเลข 13 ให้เป็น “เลขนำโชค” หรือ “Lucky 13” สำหรับคนตาบอด เพราะผลการทดลองทำยีนบำบัดแก่คนตาพิการจากโรคแอลซีเอ ได้ผลออกมามีแนวโน้มที่ดี


4.ฝรั่งเศสเปิดแฟ้มลับยูเอฟโอปลายเดือน มี.ค. 2550 ฝรั่งเศส สร้างเซอร์ไพรส์เป็นประเทศแรกในโลก ที่เปิดแฟ้ม (เคย) ลับ รายงานเกี่ยวกับสิ่งบินลึกลับยูเอฟโอ (UFO หรือ Unidentified Flying Object) อย่างเป็นทางการ เป็นข่าวฮือฮาดังไปทั่วโลก จนกระทั่งเว็บไซต์ลงเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับยูเอฟโอในรอบครึ่งศตวรรษของฝรั่งเศส ต้องล่มภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการเปิดตัว เพราะมีคนแห่กันเข้าไปดูมากเกินไป “องค์การอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส” หรือ ซีเอ็นอีเอส (CNES) ผู้รับผิดชอบรายงานเกี่ยวกับยูเอฟโออย่างเป็นทางการของฝรั่งเศส เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับยูเอฟโอ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดกว่า 1.6 พันรายงาน เป็นรายงานตั้งแต่ปี 2497 มีความสมบูรณ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการพบเห็นยูเอฟโอในรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง วัน เวลา สถานที่ ภาพถ่าย ภาพวาด เสียง และคลิปวิดีโอ ผู้อำนวยการองค์การอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส แถลงข่าวการเปิดเผยแฟ้ม (เคย) ลับเกี่ยวกับยูเอฟโอของฝรั่งเศสว่า เพื่อให้ประชาคมวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สำหรับรายงานยูเอฟโอที่ยังไม่มีคำอธิบายรายงานยูเอฟโอของฝรั่งเศสกว่า 1.6 พันรายงาน มีอยู่เกือบ 25% ถูกจัดอยู่ในรายงาน “กลุ่ม D” ซึ่งมีความหมายว่า เป็นรายงานน่าสนใจ ผู้รายงานน่าเชื่อถือ แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า คืออะไร โดยภาพรวม รายงานเกี่ยวกับยูเอฟโอของฝรั่งเศส มีอัตราส่วนของรายงานน่าสนใจ และสมควรจะได้รับการเจาะศึกษาต่อไปอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สรุปรายงานเกี่ยวกับยูเอฟโอจาก “โครงการบลูบุ๊ก” (Blue Book Project) ของสหรัฐอเมริกา



5.ยานอวกาศจีนลำแรกสำรวจดวงจันทร์เดือน ต.ค. 2550 ยานอวกาศฉางเอ้อ 1 (Chang’e 1) ของประเทศจีน เดินทางจากโลกไปสู่ดวงจันทร์ เป็นยานอวกาศลำแรกของประเทศจีนที่ถูกส่งไปสำรวจดวงจันทร์ยานฉางเอ้อ 1 ตั้งตามชื่อเจ้าหญิงแห่งดวงจันทร์ของจีน เดินทางออกจากโลกวันที่ 24 ต.ค. ถึงดวงจันทร์วันที่ 5 พ.ย. เข้าสู่วิถีโคจรรอบดวงจันทร์ที่ระดับความสูงประมาณ 200 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ มีภารกิจสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์อย่างละเอียดเป็นเวลาประมาณ 1 ปี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ของจีนในอนาคต ความมุ่งมั่นของประเทศจีนในการสำรวจดวงจันทร์ ทำให้ผู้บริหารองค์การนาซา (NASA) ของสหรัฐอเมริกา ออกมาแสดงความเห็นว่า จีนอาจจะชนะสหรัฐอเมริกาในการส่งมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ครั้งใหม่ของสหรัฐ หลังจากที่สหรัฐเคยประสบความสำเร็จส่งมนุษย์ไปลงสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นประเทศแรก (และประเทศเดียวถึงปัจจุบัน) กับโครงการอะพอลโลสู่ดวงจันทร์ เมื่อปี 2512 (กับยานอะพอลโล 9)
------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: